หลังจากรับบริการจากทันตแพทย์หรือศัลยแพทย์ช่องปากมาในแต่ละขั้นตอน และยังคงอยู่ในระหว่างกระบวนการรักษา อาจต้องระมัดระวังแผลผ่าตัดให้ดีจนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการใส่รากฟันเทียม ดังนี้
ควรกินอาหารอ่อนๆ โดยเฉพาะบริเวณที่รับการผ่าตัดใส่รากฟันเทียม
สามารถกินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ รวมถึงใช้ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อตามที่ศัลยแพทย์แนะนำ
ควรไปพบศัลยแพทย์ช่องปากตามนัดในกรณีที่ต้องตัดไหม
งดสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้แผลหายช้าและเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนได้
ผู้รับบริการสามารถขอคำแนะนำจากศัลยแพทย์ช่องปากถึงอาหาร และพฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง รวมถึงการดูแลรักษาความสะอาดให้เหมาะสมด้วย
ข้อดีของการทำรากฟันเทียม
การทำรากฟันเทียมมีข้อดีหลายข้อ ดังนี้
ใช้ทดแทนรากฟันธรรมชาติได้ใกล้เคียงที่สุด รากฟันเทียมฝังลึกลงไปถึงกระดูกขากรรไกร ผู้ที่ใส่รากฟันเทียมจึงรู้สึกราวกับรากฟันเทียมเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ต่างกับฟันปลอมแบบถอดได้ หรือสะพานฟันตรงตำแหน่งฟันลอย
ช่วยลดโอกาสเกิดฟันล้ม โดยปกติหากฟันธรรมชาติสูญหายไปและไม่ได้รับการรักษาทดแทน อาจทำให้ฟันซี่อื่นๆ เคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิมจนเกิดปัญหาฟันล้มได้
ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ที่สูญเสียฟัน รากฟันเทียมเป็นเหมือนเสาค้ำยันที่แข็งแรงกว่าฟันธรรมชาติ ผู้รับบริการสามารถเลือกใส่ครอบฟันหรือสะพานฟันด้านบนเพื่อให้ช่องปากดูเป็นปกติ และใช้งานได้เหมือนเดิม
ช่วยให้พูดได้เป็นปกติมากขึ้น รากฟันเทียมที่เสร็จสิ้นการรักษาแล้ว ให้ความรู้สึกเหมือนตอนที่ยังมีฟันตามธรรมชาติอยู่
ช่วยให้กินอาหารได้เป็นปกติขึ้น รากฟันเทียมจะติดแน่นกับเหงือกเหมือนรากฟันธรรมชาติ ทำให้ไม่เคลื่อนที่ไปมาเหมือนฟันปลอมถอดได้ ช่วยให้เคี้ยวอาหารได้ปกติยิ่งขึ้น
ช่วยให้มีสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้น รากฟันเทียมไม่จำเป็นต้องกรอฟันซี่อื่นเหมือนการใส่สะพานฟันที่ต้องกรอฟันซี่ข้างๆ เพื่อเป็นหลักยึด นอกจากนี้รากฟันเทียมยังดูแลรักษาความสะอาดได้ง่ายเหมือนฟันธรรมชาติ
มีความทนทานสูง หากดูแลรักษาความสะอาดเป็นอย่างดี ไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ เช่น โรคเหงือก รากฟันเทียมอาจใช้งานได้ตลอดชีวิต
ใช้ชีวิตประจำวันได้ง่าย ผู้ที่ใส่รากฟันเทียมไม่ต้องคอยถอด ใส่ เหมือนกับฟันปลอมแบบถอดได้
ข้อดีโดยสรุปของการทำรากฟันเทียม คือช่วยให้ผู้รับบริการกลับมามีสภาพฟันที่ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากที่สุด ทั้งภาพลักษณ์ และการใช้งานที่แข็งแรง
ข้อเสียของการทำรากฟันเทียม
ข้อเสีย และข้อจำกัดของการทำรากฟันเทียม อาจมีดังนี้
ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการทำฟันปลอมทั่วไป
ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีไม่สามารถทำรากฟันเทียมได้ เนื่องจากกระดูกขากรรไกรยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่
ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน บางกรณีอาจใช้เวลาถึง 1 ปี โดยเฉพาะผู้ที่ต้องปลูกกระดูกสันเหงือกเพิ่มเติม
ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ โรคปริทันต์อักเสบรุนแรง โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ ผู้ที่มีอาการไขข้ออักเสบรุนแรง ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมกล้ามเนื้อ ฯลฯ จำเป็นต้องมีการปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด
ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักประสบปัญหากระดูกไม่ผสานกับรากฟันเทียม และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าปกติ
ดังนั้น แม้การทำรากฟันเทียมจะมีข้อดีมากมาย และดูเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในระยะยาว แต่ก็มีข้อจำกัดที่ควรพิจารณาร่วมกันด้วยมากมาย ทางที่ดีควรดูข้อมูลของทางเลือกต่างๆ เช่น สะพานฟัน ฟันปลอมแบบถอดได้ ประกอบการพิจารณาร่วมกันกับทันตแพทย์ด้วย
ทำรากฟันเทียมยี่ห้อไหนดี?
รากฟันเทียมมีหลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อก็จะมีระดับราคาและคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งที่ผลิตในประเทศไทย เอเชีย และยุโรป ซึ่งแต่ละประเทศก็จะใช้นวัตกรรมที่แตกต่างกัน
แต่หลักเกณฑ์สำคัญที่ใช้ในการเลือกรากฟันเทียม ได้แก่ ความแข็งแรง ทนทาน ความสามารถในการยึดเกาะกับกระดูก และการรับประกัน ควรปรึกษาทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมที่สุด
ทำรากฟันเทียมเจ็บไหม?
ส่วนใหญ่จะรู้สึกเจ็บขณะที่ฉีดยาชา แต่ขณะทำจะไม่รู้สึกเจ็บ และจะมีอาการปวดบวมอีกครั้งหลังจากทำเสร็จแล้ว ซึ่งทันตแพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาแก้ปวดตามความเหมาะสม และอาการจะค่อยๆ ทุเลาลงตามลำดับ
ทำรากฟันเทียมอันตรายไหม?
หลายคนอาจกังวลว่ามีการฝังวัสดุลงไปในกระดูกขากรรไกร จะเป็นอันตรายหรือไม่ โดยหลักแล้วหากทำโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะมีความปลอดภัยสูงและไม่อันตราย
แต่การทำรากฟันเทียมก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เช่น ติดเชื้อในตำแหน่งที่ฝังรากฟัน หรือขณะฝังรากเทียมอาจทำให้ฟันข้างเคียงเส้นเลือด หรือเส้นประสาทบาดเจ็บจนเกิดความรู้สึกเจ็บปวด หรือชา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ผลลัพธ์ในการรักษาด้วยรากฟันเทียมนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งตำแหน่งที่ใส่รากฟันเทียม การดูแลรักษา และอื่นๆ แต่โดยปกติแล้วการทำรากฟันเทียมมีอัตราความสำเร็จในการรักษาสูงถึง 98% หากดูแลอย่างเหมาะสม และทำโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ใส่รากฟันเทียมแล้วจัดฟันได้ไหม?
ตามปกติทันตแพทย์จะแนะนำให้จัดฟันให้เสร็จเรียบร้อยก่อนจึงค่อยทำรากฟันเทียม เนื่องจากรากฟันเทียมจะไม่สามารถเคลื่อนที่ได้เหมือนฟันธรรมชาติ
แต่หากตำแหน่งที่ต้องการฝังรากฟันไม่ใช่ตำแหน่งที่ต้องเคลื่อนที่ ทันตแพทย์ก็อาจพิจารณาให้ทำรากฟันเทียมก่อนการจัดฟันได้
การดูแลรักษารากฟันเทียม?
การดูแลรักษาความสะอาดของรากฟันเทียมนั้นไม่แตกต่างกับการดูแลช่องปากตามปกติ โดยการ
แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง อาจปรึกษาทันตแพทย์ถึงประเภทแปรงสีฟันที่เหมาะสม
ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวัน
ใช้น้ำยาบ้วนปากฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
หลีกเลี่ยงการเคี้ยวของแข็ง เช่น น้ำแข็ง กระดูก
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และยาสูบประเภทอื่นๆ
ไม่ควรใช้ฟันเพื่อจุดประสงค์ที่ไม่เหมาะสม เช่น เปิดกระป๋อง
ไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ
โดยสรุปแล้ว การใส่รากฟันเทียมเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่สูญเสียฟันแท้ตามธรรมชาติไป และต้องการใส่ฟันทดแทนที่แข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้เหมือนฟันปกติ เงื่อนไขสำคัญในการทำรากฟันเทียมคือต้องมีสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง และสามารถไปพบทันตแพทย์ได้หลายครั้งตลอดการรักษา
รากฟันเทียมทั้งปาก: การดูแลตัวเองหลังใส่รากฟันเทียม อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://bit.ly/3P3AQ21