เที่ยวระนอง ถวาย ดอกบัวอบแห้ง เข้าโบสถ์ วัดบ้านหงาว ไหว้หลวงพ่อดีบุก

เที่ยวระนอง ถวาย ดอกบัวอบแห้ง เข้าโบสถ์ วัดบ้านหงาว ไหว้หลวงพ่อดีบุก

ได้เดินทางมา เที่ยวระนอง และได้แวะไปวัดบ้านหงาว เพื่อสักการะ หลวงพ่อดีบุก ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พระติปุกะพุทธมหาศากยมุนีศรีรณังค์” มีความหมายว่า พระพุทธรูปดีบุกองค์ใหญ่ ที่เป็นสิริมงคล และศักดิ์ศรีของเมืองระนอง นั่นเอง

เที่ยวระนอง ไหว้สักการะหลวงพ่อดีบุก เที่ยววัดบ้านหงาว

การเดินทางมาที่วัดบ้านหงาว ในครั้งนี้ เรามาตาม Google Map ที่นำทางมาจนถึงที่หน้าวัด บอกเลยว่า พระอุโบสถสวยมาก เป็นพระอุโบสถ 2 ชั้น อยู่ท่ามกลางขุนเขา พระอุโบสถกว้าง 8 เมตร ยาว 15 เมตร รอบๆเทคอนกรีตเป็นลานกว้าง มีลูกกรงล้อมรอบดูสวยงาม มีอาคารจัตุรมุขกว้าง มีบันไดขึ้นลงได้ทั้ง 4 ทิศ เหนือ ใต้ ตะวันออก และ ตะวันตก

ตรงบันไดด้านหน้าทางขึ้นนั้น มีรูปปั้นขององค์พญานาค สีเขียว อยู่ที่บันไดทางขึ้น ที่สวยงามมาก เมื่อมาถึงที่ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน มีนามว่า “หลวงพ่อดีบุก” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่สีตะกั่ว สวยงาม องค์ใหญ่ เป็นที่สักการะ ทั้งคนในชุมชน และนักท่องเที่ยว จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ แกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ ได้อย่างปราณีต และงดงามยิ่งนัก

ไร่หนึ่งอรุณ ได้นำดอกบัวอบแห้งคู่หนึ่ง พร้อมกับ ชุดสังคทาน ถวายแด่ท่านเจ้าอาวาส และท่านได้อนุญาตให้นำดอกบัวอบแห้งคู่นี้ นำมาตั้งวางไว้ที่ในพระอุโบสถแห่งนี้ เป็นที่ปราบปลื้มใจยิ่งนัก ” ข้าพเจ้า ไร่หนึ่งอรุณ ขอถวาย ดอกบัวอบแห้ง คู่นี้ เป็นพุทธบูชา แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ”

ด้านล่างของอุโบสถเป็นห้องโถง ใช้สำหรับการประชุมสัมมนา ต่างๆได้ นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่เก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า ประวัติความเป็นมาของชาวระนอง นอกจากนี้ยังมีวังมัจฉา ที่มีพันธุ์ปลาน้ำจืดหลากหลายชนิด นักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารได้

ที่บริเวณภูเขาด้านหลังของวัด มีบันไดคอนกรีต มากกว่า 300 ขั้น ที่สามารถเดินขึ้นไปบนยอดภูเขา เป็นสถานที่สำหรับชมวิวทิวทัศน์ ของจังหวัดระนองได้รอบ 360 องศา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม อีกแห่งหนึ่งของภาคใต้
ประวัติ วัดบ้านหงาว จังหวัดระนอง

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ในปีนั้น ได้มีพระธุดงค์ นามว่า หลวงพ่อเขียด ท่านเป็นพระที่มีอายุพรรษามากรูปหนึ่ง ท่านธุดงค์มาจากจังหวัดปัตตานี มาปักกรดโปรดสัตว์อยู่ที่บริเวณสถานีอนามัยตำบลหงาว เมื่อชาวบ้านมาเห็น จึงเกิดศรัทธายิ่งนัก จึงพากันมาทำบุญ และฟังธรรมเทศนา

หลวงพ่อเขียด ท่านมีปฏิปทาน่าเคารพเลื่อมในมาก โดยได้ให้ความเมตตาช่วยเหลือชาวบ้านในด้านต่าง ๆ เป็นอย่างดี ชาวบ้านจึงนิมนต์ ให้ท่านอยู่จำพรรษาที่บ้านหงาว โดยคุณแม่ลำไย สกุลสิงห์ คหบดีในตำบลหงาว อุทิศที่ดินจำนวน ๒ ไร่ สร้างเป็นที่พักสงฆ์ หลวงพ่อเขียด ท่านรับนิมนต์ และย้ายไปปักกรดในที่ดินที่คุณแม่ลำไย อุทิศให้ คือบริเวณที่ตั้งวัดบ้านหงาวในปัจจุบันนี้

หลวงพ่อเขียด ได้ขอบิณฑบาตกระดานโลงศพ ในส่วนที่เป็นฝาและท้องโลงศพ ที่ชาวบ้านนำศพไปเผาแล้วถอดออก เพื่อทำเป็นเชื้อไฟนำมาทำเป็นกุฏิของท่าน หลวงพ่อเขียดเป็นพระธุดงค์ ชอบความสงบ วิเวก เมื่อสร้างที่พักสงฆ์เสร็จแล้ว มีพระภิกษุสามเณรมาอยู่กันมาก คนเริ่มเข้าวัดมากขึ้น ท่านเห็นว่ามีพระอยู่กันหลายรูปแล้ว ในปี พ.ศ. 2502 ท่านก็จาริกธุดงค์ไปที่อื่น โดยไม่มีใครทราบว่าท่านธุดงค์ไปที่ไหนจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ต่อจากนั้นมา ที่พักสงฆ์บ้านหงาว ก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นสำนักสงฆ์สาขาวัดอุปนันทาราม โดยมีพระครูสมุห์นิคม อรุโณ มาอยู่เป็นเจ้าสำนัก จึงมีการพัฒนาและก่อสร้างอาคารต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น กุฏิพระสงฆ์ หอฉัน ศาลาการเปรียญ เพื่อเตรียมการขอตั้งเป็นวัดให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกรมการศาสนา

ดร.แหลม พิชัยศรทัต ซึ่งเป็นผู้จัดการใหญ่ของบริษัทไซมัสกินซินทีเกรด ทำธุรกิจเหมืองเรือขุดแร่อยู่ในตำบลหงาว และเป็นกำนันอยู่ในตำบลหงาวขณะนั้น ท่านได้ของบประมาณจากทางจังหวัดมาสร้างเมรุเผาศพ และขอบริจาคที่ดินจากผู้ที่มีที่ดินติดกับวัด จึงทำให้วัดบ้านหงาวมีที่ดินเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น ๒๒ ไร่ เศษ ดังในปัจจุบันนี้

ในปี พ.ศ. 2530 จึงได้ยกฐานะจากสำนักสงฆ์ขึ้นเป็นวัด โดยใช้ชื่อว่า “วัดบ้านหงาว” มีพระอธิการน้อม จนฺทสโร เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก พระอธิการน้อม มรณภาพในปี พ.ศ. 2532 ทางคณะสงฆ์จังหวัดระนองจึงได้ส่ง พระสมุห์โกศล กุสโล (อาจารย์ฉลวย กุสโล) มาเป็นเจ้าอาวาสแทน ท่านเป็นพระนักพัฒนา ท่านได้วางแผนพัฒนาวัดบ้านหงาวอย่างต่อเนื่อง สร้างกุฏิ หอฉัน ศาลาการเปรียญ เมรุเผาศพขึ้นใหม่

รวมทั้งจัดตั้งแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดขึ้นในเหมืองเก่า หาพันธุ์ปลามาปล่อย และตั้งชื่อขุมเหมืองแร่เก่านี้ว่า “วังมัจฉา” มีพันธุ์ปลาน้ำจืดที่หายาก มากมาย จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดระนองในปัจจุบัน

อุโบสถวัดบ้านหงาว เป็นอุโบสถ 2 ชั้น หรือที่เรียกว่า อุโบสถลอยฟ้า กว้าง 8 เมตร ยาว 15 เมตร รอบอุโบสถเทคอนกรีตเป็นลานกว้างมีลูกกรงล้อมรอบ ในแต่ละมุมทั้ง 4 ด้าน มีอาคารจัตุรมุขกว้าง มีบันไดขึ้นลงรอบทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ด้านล่างของอุโบสถเป็นห้องโถงใช้สำหรับการประ ชุมสัมมนา

ภายในอุโบสถวัดบ้านหงาว เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน มีนามว่า “หลวงพ่อดีบุก” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีชื่อเป็นทางการว่า “พระติปุกะพุทธมหาศากยมุนีศรีรณังค์” อันมีความหมายว่า “พระพุทธรูปดีบุกองค์ใหญ่เป็นสิริมงคลและศักดิ์ศรีของเมืองระนอง” และยังมีความสวยงามของฝาผนังที่แกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ อีกด้วย

ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดบ้านหงาว ภายในจะแสดงเรื่องราวการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกร ที่ชาวระนองวัดบ้านหงาว ได้บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัดระนอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จหลายครา ตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน

ทำให้คนในชุมชนมีความพออยู่พอกิน หาเลี้ยงพึ่งพาตนเองได้ ลูกหลานระนองทุกคนมีความเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ระนองเป็นเมืองแห่งความจงรักภักดี พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งมีการรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ทั้งพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สมัยต่าง ๆ เครื่องมือในการร่อนแร่ ครกบดหิน เงินตราสมัยต่าง ๆ ตลอดถึงภาพเก่า ๆ ที่สามารถเล่าเรื่องอดีตให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า

วัดบ้านหงาว มีมรดกทางวัฒนธรรมและมีธรรมชาติอากาศบริสุทธิ์ ภูเขาหญ้าที่สวยงาม ช่วงวันออกพรรษา ที่นี้จะมีการตักบาตรเทโว ที่พระสงฆ์เดินลงเป็นสายทางยาวลงบันได จำนวน 343 ขั้น จากยอดเขาลงมา ให้พุทธศาสนิกชน ได้ตักบาตร เสมือนหนึ่งดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาโปรดมนุษย์ เนื่องในวันออกพรรษา ประชาชนในชุมชนได้ร่วมทำบุญ อิ่มบุญกันถ้วนหน้า เป็นชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวรต้นแบบ ที่กระทรวงวัฒนธรรมส่งเสริมให้เป็นชุมชนบวร On Tour ที่ควรภาคภูมิใจและไปเยี่ยมเยือน

 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาสินค้าฟรี ลงประกาศขายบ้านฟรี ลงประกาศขายบ้าน ลงประกาศขายที่ดินฟรี ลงประกาศขายคอนโดฟรี ขายรถ สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทเว็บไซต์ google หน้าแรก